ม.เอเชียอาคเนย์ ร่วมกับอาจารย์ และนักศึกษา เปิดตัว 4 เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ยุคใหม่เพื่อสังคม 
   มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ จุดประกายนวัตกรรมต่อยอดเทคโนโลยี ประดิษฐ์ 4 ผลงานไฮเทค โดยนักศึกษาและอาจารย์ร่วมพัฒนานวัตกรรม จนก่อให้เกิดผลงานคุณภาพสร้างสรรค์ ประกอบด้วย รถสอดแนมกู้ภัย ระบบบริหารร่างกายฤาษีดัดตนจาก Microsoft Kinect ระบบผู้เชี่ยวชาญเสมือนจาก Facebook Oculus Rift โดยพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีระดับสากลจากการเรียนการสอนในห้องเรียน เพื่อเพิ่มประสบการณ์และทักษะของผู้เรียน และเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพของนักศึกษาไทยว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก   
                                                                    

   อาจารย์ณัฏฐ์  โอธนาทรัพย์ ผอ. ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเอเซียอาคเนย์ได้ร่วมกับคณาจารย์และนักศึกษาได้พัฒนางานเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อความทันสมัย โดยสิ่งประดิษฐ์ต่างๆได้นำอุปกรณ์เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์สมาร์ทโฟน กล้อง Kinect ของ Microsoft หรือ Oculus Rift ของ Facebook และ Raspberry Pi  ที่นำมาประยุกต์ใช้งานร่วมกัน จนก่อให้เกิดผลงานที่น่าภาคภูมิใจ   

   สำหรับสิ่งประดิษฐ์ “รถสอดแนม IOIO” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในเหตุการณ์ตึกถล่มหรือสถานการณ์เหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ  เช่น การวางระเบิด การจับคนเป็นตัวประกัน ซึ่งคนไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะอาจเกิดอันตราย ก็จะใช้รถนำรถสอดแนมเข้าไปสำรวจตามซอกเล็ก ๆ ที่สำคัญยังสามารถใส่อุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น อุปกรณ์ทำลายวัตถุระเบิด กล้องสอดแนม CCTV  วิธีใช้งาน คือ จะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง ในการเชื่อมต่อและบังคับทิศทาง โทรศัพท์เครื่องที่ 1 จะคอยสั่งการผ่านบลูทูธ ส่งคำสั่งเข้าโทรศัพท์เครื่องที่ 2 ที่ติดตั้งอยู่กับรถ มีรัศมีทำการเท่ากับรัศมีของ Wifi  ตัวแอพพลิเคชั่นที่ใช้ โดยใช้ร่วมกับโทรศัพท์มือถือ โดยพัฒนาต่อยอดมาจาก IOIO Board (อ่านว่า โยโย่ บอร์ด)  ซึ่งถ้าเป็นรถบังคับทั่วไป คนคอนโทรลก็จะไม่เห็นอะไร แต่ตัวนี้จะเห็นมุมมองจากรถ ว่าวิ่งถึงไหน เข้าไปในไหนแล้ว อันนี้คือก้าวแรกของการพัฒนา

   อาจารย์ณัฏฐ์  โอธนาทรัพย์ เผยต่อว่า นอกจากนี้ยังมี “ระบบการบริหารร่างกายฤาษีดัดตน”  มีแนวคิดมาจากการที่ เห็นประเทศอื่นเขาทำท่าออกกำลังกายด้วยท่า บอดี้คอมแบต จี้กง โยคะ ทาง ม เอเชียอาคเนย์ จึงมีแนวคิดพัฒนาท่าบริหารร่างกายของไทยขึ้นมาบ้าง เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยของเรา  จึงพัฒนาระบบการบริหารฤาษีดัดตนขึ้นมา  เพื่อให้คนไทยได้บริหารร่างกายในท่าฤาษีดัดตนอย่างถูกต้อง และไม่จำเป็นต้องไปที่วัดโพธิ์ เพราะระบบนี้จะทำให้เกิดความสนุกสนานกับการบริหารร่างกาย   อุปกรณ์ที่ใช้จะเป็น กล้อง Kinect ของ Microsoft ที่จะคอยจับรายละเอียดร่างกาย พอเวลาอยู่ที่หน้าเครื่องนี้ มันก็จะเช็คว่าทำถูกหรือไม่ ก็จะมีคนสอนอยู่  แล้วก็ทำท่า ยกแขน ยกขา ตามท่า ทั้งหมด 18 ท่าหลัก ถ้าทำถูกมันก็จะมีคะแนนให้ ผู้ใช้ก็จะทำท่าเสมือนจริงได้เลย
   สิ่งประดิษฐ์อีกชิ้นที่เป็นผลงานของนักศึกษาก็คือ “ระบบผู้เชี่ยวชาญเสมือน Oculus”  เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นมุมมองของอาจารย์ผู้สอนให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติ  โดยสมมุติอาจารย์เป็นวิศวกร สำรวจตึกใส่หมวกที่มีกล้องติดอยู่ นักศึกษาก็จะได้เห็นมุมมอง 3 มิติ ของอาจารย์ ประโยชน์ก็คือเด็กจะได้ความเชี่ยวชาญ ได้ประสบการณ์ ของอาจารย์ผู้สอนไปด้วย  โดยใช้อุปกรณ์ Oculus Rift ของ Facebook เชื่อมต่อกับ Raspberry Pi  ซึ่งทำหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูล โดยเอากล้องเว็บแคม ใส่กับหมวก แต่ตัวนี้เราใส่กับเฮดการ์ด แล้วกล้องตัวนี้จะเหมือนกับลูกตา 2 ข้าง  เพราะมนุษย์เราสามารถเห็นภาพสามมิติได้จากการเห็นของ 2 ตา  กล้องตัวนี้จะเสมือนตาเรา แล้วก็จะบันทึกภาพเป็นสามมิติพร้อมเสียงของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้ที่ ม.เอเชียอาคเนย์ยังมีการนำ “พริ้นเตอร์ 3 มิติ”  มาใช้สำหรับนักศึกษาวิชาออกแบบ เพราะจะเห็นรูปร่างของชิ้นงานอย่างเป็นรูปธรรมในทุก ๆ ด้าน ไม่ใช่แค่ด้านเดียวเหมือนในกระดาษ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยการทำงานใช้ร่วมกับกล้อง Kinect  ที่สามารถถ่ายภาพตื้นลึก เป็นภาพสามมิติได้  นำมาสแกน object  หรือวัตถุรอบด้าน ก็จะได้ออกมาเป็น  3D โมเดล ได้ทันที” อ.ณัฏฐ์ กล่าว
                                   


    










ผศ.ดร.วีรพันธ์ ม่วงทองสุข ผอ.สำนักวิจัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “วัสดุที่ใช้ในการสร้างชิ้นงานสำหรับพรินเตอร์ 3 มิติ คือ PLA เป็นไฟเบอร์จากอ้อย ซึ่งจะไม่เป็นอันตราย มันจะละลายแล้วหลอมออกมาเป็นชิ้นงานโดยใช้ความร้อน ซึ่งตัวนี้เป็นโครงการ ที่ต้องการให้นักศึกษานำรายวิชาที่เรียนมาปรับและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างนักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกล จะมีวิชาออกแบบหรือว่าเขียนแบบวิศวกรรม ปกติเขียนแบบจะแค่ดราฟอยู่ในคอมพิวเตอร์ แต่หากออกแบบก็จะคำนวณรูปร่างของวัสดุต่างๆ แต่ก็จะไม่เห็นของจริง โดยเครื่องมือนี้สามารถช่วยสร้างความเข้าใจให้กับนักศึกษามากขึ้น เราเรียกว่า Rapid Modeling คือการทำการออกแบบแล้วพริ้นโมเดลออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มนุษย์เราใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย มากขึ้น” 
 

 
นายฉัททวุฒิ พีชผล อธิการบดี ม.เอเชียอาคเนย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทางมหาวิทยาลัย จะมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาสลงมือปฎิบัติจริง เพื่อพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการเรียนร้สูง โดยการให้โอกาสนักศึกษาได้คิด ฝึกฝน พัฒนากับของจริง เพื่อพัฒนาต่อยอดด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทันสมัย มาตรฐานสากล ย่อมมีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และช่วยเตรียมพร้อมพัฒนาให้นักศึกษาของ ม เอเชียอาคเนย์ มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในการทำงานจริงในศตวรรษที่ 21 ได้เป็นอย่างดี” 


มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ 
19/1 ถนนเพชรเกษม (ติดซอยเพชรเกษม 106) เขตหนองแขม กรุงเทพ 10160
โทรศัพท์ : 02-8074500 ต่อ 190, 192 แฟกซ์ : 02-8074528 – 30 อีเมล์ : info@sau.ac.th